ความเชื่อ ความศรัทธานั้นอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่จะมีการบูชาวัตถุมงคลต่างๆ ตามท้องถิ่น เรียกได้ว่าที่ไหนดี ที่ไหนดังต้องตามไปบูชาให้ได้ ซึ่งเราทุกคนที่ศรัทธาและบูชาก็มีความเชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโชคลาภ การงาน ค้าขายดี สอบติด เป็นต้น วันนี้จะมาเล่าถึงเรื่องราวของการบูชาวัตถุมงคลตามของเมืองไทยกันเลย เพื่อที่จะได้รู้ว่าวัตถุมงคลนี้มีมานานแค่ไหน แล้วต้องบูชาแบบไหน
วัตถุมงคลคืออะไร
วัตถุมงคล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อเชื่อมโยงให้เกิดพฤติกรรมในเชิงบวกบังเกิดความดี มีกุศล คุณธรรม เกิดความเจริญและสิริมงคลแก่ชีวิต มีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสร้างความเชื่อ ก่อเกิดอิทธิพลต่อสังคมไทย เช่น พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง เพื่อเกิดความขลังของวัตถุมงคลจึงเกิดวิถีปฏิบัติทั้งทางธรรมและพิธีกรรมแบบไสยศาสตร์เพื่อเชื่อมถึงอานุภาพของพระพุทธมนต์ในพระไตรปิฎก และความเชื่อต่อปฏิปทาของเกจิอาจารย์ พิธีกรรมทางพิธีพุทธาภิเษก นอกจากการทำพิธีแล้วเพื่อความเป็นสิริมงคล โชคลาภผู้ครอบครองจำต้องรักษาอย่างดี รวมถึงมีจิตใจอันเป็นกุศล
ที่มาของวัตถุมงคลในประเทศไทย
เริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระสงฆ์ได้แบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งจะร่ำเรียนพระไตรปิฎกและสั่งสอนพระธรรม (คามวาสี) และอีกฝ่ายจะถือวิปัสสนาธุระหรือบำเพ็ญภาวนามัก จากนั้นได้เกิดพิธีการเคารพสักการะครูบาอาจารย์ เมื่อต้องออกศึก หรือในยามคับขันเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ขอพรสวัสดีมีชัยจากท่านที่นับถือ โดยสมัยนั้นพระเถรานุเถระได้มีการมอบของที่ระลึกเพื่อเป็นที่ระลึก กำลังใจยึดถือให้เกิดกำลังใจ เกิดความมั่นใจ ต่อมาวัตถุมงคลได้พัฒนาการขึ้นตามสภาพความเจริญเกิดเป็น เสื้อยันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุด รูปประติมากรรม ฯลฯ ฉันนะ วารมัน, ตำรับพระเครื่องรางของขลัง นี่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวัตถุมงคลในบ้านเราเลยก็ว่าได้
ประเภทของวัตถุมงคล
- แบ่งตามการสร้าง
- วัตถุมงคลที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น เหล็กไหล เขากวางคุด เขี้ยวหมูตัน เขียวเสือกลวง เถาวัลย์ เป็นต้น
- วัตถุมงคลที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ พระพิมพ์หรือพระเครื่อง หมากทุย ลูกประคำ เป็นต้น
- แบ่งตามประเภทวัตถุมงคลของขลัง
- เครื่องคาด ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้คาดศีรษะ คาดเอว คาดแขน ฯลฯ
- เครื่องสวม ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้สวมคอ สวมศีรษะ สวมแขน สวมนิ้ว ฯลฯ
- เครื่องฝัง ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้ฝังลงไปในเนื้อหนัง เช่น เข็มทอง ตะกรุดทอง ตะกรุดสาลิกา และการฝังเหล็กไหล
- เครื่องอม ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้อมไว้ในปาก เช่น ลูกอม ตะกรุดลูกอม
- แบ่งตามรูปลักษณะ
- ผู้ชาย เช่น รักยม กุมารทอง ฤาษี พ่อเฒ่า ชูชก ปลัดขิก ฯลฯ
- ผู้หญิง เช่น นางกวัก แม่ศรีเรือน แม่ซื้อ ฯลฯ
- พระโพธิสัตว์ เช่น เสือ ช้าง วัว เต่า แมงมุม
- แบ่งตามระดับชั้น
- เครื่องรางชั้นสูง ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้ส่วนสูงของร่างกายนับแต่ศีรษะลงมาถึงบั้นเอวสำเร็จด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
- เครื่องรางชั้นต่ำ ได้แก่ เครื่องรางที่เป็นของต่ำ เช่น ปลัดขิก อีเป๋ ไอ้งั่ง อิ้น ไม่ได้สำเร็จด้วยของสูง
- เครื่องรางที่ใช้แขวน เช่น ธงรูปนก กระบอกใส่ยันต์ เป็นต้น
สามารถสรุปได้ว่าวัตถุมงคลนั้นมีให้บูชากันมาตั้งแต่โบราณ ที่จะมีการปลุกเสกของขลังเพื่อให้ติดตัวในยามศึก แสดงให้เห็นว่าวัตถุมงคลเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้อุ่นใจ และสบายใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าวัตถุมงคลชนิดนี้ต้องมี หรือไม่ต้องมี อยู่ที่ศรัทธาของแต่ละคนว่าจะมีความเชื่อและศรัทธาในวัตถุมงคลชนิดใดนั่นเอง